นโยบายคณะกรรมการ

      ในการดำเนินงานของ รฟม. มีคณะกรรมการ รฟม. เป็นผู้กำหนดนโยบายและกำกับดูแลกิจการของ รฟม. ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินงานของ รฟม. เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาล คณะกรรมการ รฟม. จึงได้กำหนดนโยบายเพื่อใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานและเพื่อการกำกับดูแลการดำเนินงานไว้ ดังนี้

      1. ให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนด้วยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล และนำเทคโนโลยีมาพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ รวมถึงพัฒนาและนำระบบตั๋วร่วมมาใช้ โดยคำนึงถึงความพึงพอใจของผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม

      2. ให้ดำเนินงานโดยยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามมาตรฐานสากล และบริหารจัดการความเสี่ยงขององค์กรให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ รวมถึงให้ความสำคัญต่อการป้องกันและลดผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อประชาชนหรือกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในขั้นตอนการก่อสร้าง

      3. ให้เร่งรัดดำเนินโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมายให้แล้วเสร็จเปิดบริการได้ตามแผนงาน และในการศึกษาระบบรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายและในเมืองหลักอื่น ให้คำนึงถึงความคุ้มค่าในการลงทุน ภาระงบประมาณ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความพึงพอใจของประชาชนในพื้นที่เป็นหลักด้วย

      4. ให้ศึกษาและพัฒนาระบบเชื่อมต่อ (feeders) และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการเชื่อมการเดินทางจากระบบรถไฟฟ้าฯ ไปยังจุดหมายต่างๆ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวโดยรอบ โดยอาจผนวกการดำเนินการเข้าในแผนลงทุนของ รฟม.

      5. ให้บริหารสินทรัพย์ ดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง ให้บริการเสริมต่างๆ ศึกษาโอกาสและริเริ่มพัฒนาธุรกิจใหม่ เพื่อเพิ่มรายได้และลดภาระการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมทั้งแก้ไขข้อปัญหาการใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์

      6. ให้ความสำคัญต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินงานและนำข้อคิดเห็นของประชาชนมาพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานขององค์กรให้ดีขึ้นและเติบโตอย่างยั่งยืน

      7. ให้มุ่งเน้นการพัฒนาปรับปรุงองค์กรอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่การเป็นองค์กรประสิทธิภาพสูง ทั้งในด้านการบริหารจัดการทั่วทั้งองค์กร การบริหารการเปลี่ยนแปลง การพัฒนานวัตกรรมบนพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล และการบริหารจัดการทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและสมดุล รวมทั้งมุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้เป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีความพร้อมในการดำเนินงานเชิงรุกเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างมีประสิทธิภาพ

      8. ให้สื่อสารเชิงรุกในรูปแบบต่างๆ กับผู้ใช้บริการ ผู้ได้รับผลกระทบ และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ เพื่อให้ได้รับรู้และเข้าใจถึงความสำคัญของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน การดำเนินงานขององค์กร สร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้หันมาให้การสนับสนุนองค์กร และเกิดความเชื่อมั่นต่อการให้บริการรถไฟฟ้าและการดำเนินงานของ รฟม.

      9. ให้พัฒนาและปรับปรุงระบบแรงจูงใจทั้งในรูปตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน เพื่อสร้างความเป็นธรรมและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่พนักงาน