เว็บไซต์โครงการ: https://mrta-orangelineeast.com
คณะรัฐมนตรีในคราวประชุม เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553 ได้มีมติทราบผลการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ได้มีมติเห็นชอบแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการในระยะ 10 ปีแรก (เปิดบริการในปี 2562) จำนวน 7 สาย ระยะทางรวม 154 กิโลเมตร โดยมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เป็นโครงการที่ถูกบรรจุไว้ในแผนดังกล่าว
ต่อมา คณะรัฐมนตรีในคราวประชุม เมื่อวันที่ 28
มกราคม 2563 ได้มีมติอนุมัติการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ -
มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในรูปแบบ PPP
Net Cost โดยภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
ส่วนตะวันตก และค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาทั้งเส้นทาง
ตั้งแต่ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รวมทั้งค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
ฯ โดยมีระยะเวลาเดินรถ 30
ปี (นับจากเริ่มเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
ส่วนตะวันออก เป็นต้นไป)
แนวเส้นทาง
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 35.9 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 27 กิโลเมตร และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 8.9 กิโลเมตร จำนวน 28 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 21 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่สถานีบางขุนนนท์ ซึ่งเป็นอุโมงค์ใต้ดินวิ่งไปตามแนวทางรถไฟเดิมไปยังโรงพยาบาลศิริราช บริเวณสถานีศิริราช จากนั้นจึงวิ่งลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาขนานไปกับสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ลอดใต้พื้นที่ถนนราชดำเนิน ผ่านสนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วเบี่ยงแนวเส้นทางไปตามแนวถนนหลานหลวงจนถึงแยกยมราช เลี้ยวขวาไปตามถนนเพชรบุรีจนถึงสี่แยกประตูน้ำ เลี้ยวซ้ายลอดใต้ถนนราชปรารภตรงไปถึงสามเหลี่ยมดินแดง แล้วจึงเลี้ยวขวาไปตามถนนดินแดง หลังจากนั้นจึงเลี้ยวซ้ายตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต แล้วเลี้ยวขวาผ่านกรุงเทพมหานคร 2 และเบี่ยงขวาลอดผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์ ไปยังสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จากนั้นแนวเส้นทางจะวิ่งขนานไปตามแนวถนนพระรามเก้าไปยังสถานี รฟม. ลอดใต้คลองแสนแสบ ก่อนเลี้ยวซ้ายไปตามถนนรามคำแหง ผ่านแยกลำสาลี ไปจนถึงบริเวณคลองบ้านม้า ก่อนเปลี่ยนแนวทางวิ่งจากอุโมงค์ใต้ดินเป็นทางวิ่งยกระดับ และวิ่งตามแนวถนนรามคำแหงไปจนถึงบริเวณคลองสองที่สถานีมีนบุรี ก่อนสิ้นสุดแนวเส้นทางที่สถานีสุวินทวงศ์ บริเวณสามแยกรามคำแหง – สุวินทวงศ์
โครงสร้างทางวิ่ง
เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 27 กิโลเมตร และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 8.9 กิโลเมตร
ระบบรถไฟฟ้า
เป็นระบบรถรางไฟฟ้า (Heavy Rail)
สถานี
มีจำนวนสถานีทั้งหมด 28 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 21 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี
ศูนย์ซ่อมบำรุง
ศูนย์ซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์. - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ตั้งอยู่ในพื้นที่ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บริเวณเขตห้วยขวาง
จุดจอดแล้วจร
สถานที่จอดแล้วจรมี 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณสถานีคลองบ้านม้า และสถานี รฟม.
รายการ | ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (ล้านบาท) | ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ (ล้านบาท) | ตลอดทั้งสาย ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (ล้านบาท) |
ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน | 9,585 | 14,621 | 24,206 |
ค่าจ้างสำรวจอสังหาริมทรัพย์ | 40 | 40 | 80 |
ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานโยธา | 2,789 | 3,223 | 6,012 |
ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานระบบรถไฟฟ้า | 747 | 369 | 1,116 |
ค่าก่อสร้างงานโยธา | 80,118 | 92,788 | 172,906 |
ค่างานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถ | 20,000 | 11,000 | 31,000 |
รวม | 113,279 | 122,041 | 235,320 |