แนวเส้นทาง
แนวเส้นทางโครงการระบบขนส่งกรุงเทพมหานคร ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ มีโครงสร้างรถไฟฟ้าแบบยกระดับตลอดเส้นทาง ระยะทาง 13 กิโลเมตร เป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Heavy Rail Transit System) แนวเส้นทางเริ่มต้นต่อเนื่องจากแนวเส้นทางของโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (BTS) ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตอนที่ 1 ช่วงอ่อนนุช - แบริ่ง บริเวณซอยสุขุมวิท 107 (แบริ่ง) ไปตามแนวเกาะกลางของถนนสุขุมวิท ผ่านคลองสำโรง ผ่านแยกเทพารักษ์ แยกปู่เจ้าสมิงพราย เมื่อถึงบริเวณจุดตัดกับโครงการถนนวงแหวนรอบนอกด้านใต้แนวจะเบี่ยงจากเกาะกลางไปทางทิศตะวันตกของถนนสุขุมวิท เพื่อข้ามทางต่างระดับสุขุมวิท จากนั้นจึงเบี่ยงกลับมาอยู่ในแนวเกาะกลางถนนสุขุมวิท ผ่านแยกศาลากลาง แยกการไฟฟ้า แยกแพรกษา แยกสายลวด จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณหน้าสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง โดยแนวเส้นทางจะเบี่ยงออกทางด้านทิศตะวันตก และลดระดับเพื่อเข้าศูนย์ซ่อมบำรุง
โครงสร้าง
รูปแบบโครงสร้างที่เหมาะสมที่สุดสำหรับรูปตัดและมิติของโครงสร้างทางวิ่งยกระดับรถไฟฟ้าจะมี 3 รูปแบบ คือ ระบบรางเดี่ยว ระบบรางคู่ และระบบสามราง
สถานี
สถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 9 สถานี โครงสร้างสถานียกระดับมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ตั้งสถานีที่ยาวตามแนวเกาะกลางถนน จึงจัดวางเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ชั้น 1 ระดับพื้นดิน ชั้น 2 ระดับจำหน่ายตั๋ว และชั้น 3 ระดับชานชาลา โดยบางสถานีจะเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนสายอื่นๆ เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ยังมีบันไดเลื่อน ลิฟท์ ห้องน้ำ ป้ายประชาสัมพันธ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อผู้พิการอีกด้วย
ศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดรถ
ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 123 ไร่ และบริเวณจุดสิ้นสุดโครงการหลังสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง ประกอบด้วยอาคารบริหาร และศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการเดินรถ อาคารซ่อมบำรุงหลัก อาคารจอกรถไฟฟ้า รางทดสอบและอาคารประกอบอื่นๆ นอกจากนี้ รฟม. ได้จัดให้มีอาคารจอดรถแล้วจร 1 แห่งที่บริเวณสถานีเคหะสมุทรปราการ ริมถนนสุขุมวิท เนื้อที่ประมาณ 18 ไร่ สามารถอดรถรวมได้ทั้งหมดประมาณ 1,200 คัน
ราง
ความกว้างขนาดทางรถไฟตามโครงการนี้ใช้ความกว้างมาตรฐาน (Standard Gauge) ขนาด 1,435 มิลลิเมตร วัดจากริมรางในของทางรถวิ่ง ต่ำจากระดับหัวราง 14 มิลลิเมตร
ขบวนรถไฟฟ้า
รถไฟฟ้าใช้กระแสไฟฟ้ากระแสตรง 750 โวลต์ โดยรถไฟฟ้าจะเป็นแบบ 3 ถึง 6 ตู้ต่อหนึ่งขบวน ซึ่งสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 50,000 คน ต่อชั่วโมงต่อทิศทาง
ระบบโดยรวมและระบบเก็บค่าโดยสาร
ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร ระบบไฟฟ้ากำลังและการเก็บค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ จะเหมือนกับสายเฉลิมรัชมงคล
รายการ | เงินลงทุน | หน่วย |
ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน | 1,310.84 | ล้านบาท |
ค่าก่อสร้างงานโยธา | 17,092.21 | ล้านบาท |
ค่างานระบบรถไฟฟ้า | 9,416.03 | ล้านบาท |
รวม | 27,819.08 | ล้านบาท |
แนวเส้นทาง
โครงการมีระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร ลักษณะเป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดเส้นทาง มีสถานียกระดับจำนวน 16 สถานี แนวเส้นทางเริ่มต้น ต่อเนื่องจากแนวเส้นทางของโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (BTS) ที่สถานีหมอชิต ข้ามทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์บริเวณห้าแยก ลาดพร้าว ผ่านแยกรัชโยธิน แยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปจนถึงบริเวณแยกหลักสี่และเบี่ยงออกด้านขวาเลียบไปตามขอบอุโมงค์ลอกแยกหลักสี่ และเบี่ยงเข้าสู่เกาะกลางดังเดิม ไปจนถึงบริเวณสะพานใหม่หน้าตลาดยิ่งเจริญ โดยเมื่อถึงประมาณกิโลเมตรที่ 25 ของถนนพหลโยธิน แนวเส้นทาง จะเบี่ยงไปทางด้านทิศตะวันออก (ด้านเหนือของพื้นที่ประตูกรุงเทพฯ) ข้ามคลางสอง ผ่านบริเวณด้านข้างของสถานีตำรวจภูธรคูคต เข้าสู่บริเวณเกาะ กลางของถนนลำลูกกา และสิ้นสุดที่บริเวณคลองสอง (บริเวณสถานีคูคต) ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารจอดรถ มีสถานียกระดับ 16 สถานี
โครงสร้าง
โครงสร้างทางยกระดับรองรับรถไฟฟ้า 2 ทาง โครงสร้างคานที่ใช้ในการรองรับทางวิ่งจะเป็นโครงสร้างที่ใช้วิธีการก่อสร้างแบบชิ้นส่วนหล่อสำเร็จในโรงงานแล้วนำมาประกอบติดตั้ง เพื่อให้งานก่อสร้างสามารถดำเนินการได้รวดเร็ว
สถานี
สถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 16 สถานี โดยบางสถานีจะเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนสายอื่นๆ เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ยังมีบันไดเลื่อน ลิฟท์ ห้องน้ำ ป้ายประชาสัมพันธ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อผู้พิการอีกด้วย
ศูนย์ซ่อมบำรุง
ศูนย์ซ่อมบำรุงสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต มีพื้นที่ประมาณ 120 ไร่ ตั้งอยู่ใกล้บริเวณสถานีคูคต บริเวณคลองสองตัดกับคลองหกวา ประกอบด้วย โรงจอดขบวนรถไฟฟ้า โรงซ่อมบำรุงหลัก โรงงล้างขบวนรถไฟฟ้า สถานีรถไฟฟ้าย่อย รางทดสอบ อาคารบริหารและศูนย์ควบคุมกลางการเดินรถ และอาคารประกอบอื่น ๆ
อาคารจอดแล้วจร
อาคารจอดแล้วจรตั้งอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 25 สามารถจอดรถได้ประมาณ 1,042 คัน และบริเวณใกล้กับสถานีตำรวจภูธรคูคต สามารถจอดรถได้ประมาณ 713 คัน
ราง
ความกว้างขนาดทางรถไฟตามโครงการนี้ใช้ความกว้างมาตรฐาน (Standard Gauge) ขนาด 1,435 มิลลิเมตร วัดจากริมรางในของทางรถวิ่ง ต่ำจากระดับหัวราง 14 มิลลิเมตร
ขบวนรถไฟฟ้า
รถไฟฟ้าใช้กระแสไฟฟ้ากระแสตรง 750 โวลต์ โดยรถไฟฟ้าจะเป็นแบบ 4 ถึง 6 ตู้ต่อหนึ่งขบวน ซึ่งสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 50,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง
ระบบโดยรวมและระบบเก็บค่าโดยสาร
ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร ระบบไฟฟ้ากำลังและการเก็บค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต จะเหมือนกับสายเฉลิมรัชมงคล
รายการ | เงินลงทุน | หน่วย |
ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน | 7,878.00 | ล้านบาท |
ค่าก่อสร้างงานโยธา | 29,848.00 | ล้านบาท |
ค่างานระบบรถไฟฟ้า | 20,658.45 | ล้านบาท |
รวม | 58,384.45 | ล้านบาท |