เว็บไซต์โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง: www.mrta-yellowline.com
แผ่นพับและวีดีทัศน์โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง
ตามผลการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการออกแบบเบื้องต้น โครงการระบบขนส่งมวลชนสายสีเหลือง ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2550 – 2554 ได้แบ่งเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ ออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงรัชดา/ลาดพร้าว – พัฒนาการ และช่วงพัฒนาการ – สำโรง หรือโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรงในปัจจุบัน โดยเริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เป็นระบบขนส่งมวลชนประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail) มีลักษณะเป็นโครงสร้างยกระดับตลอดแนวเส้นทาง มีระยะทางทั้งสิ้น 30.4 กิโลเมตรรวม 23 สถานี มีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสายสีน้ำเงินที่สถานีรัชดา (สถานีลาดพร้าวของสายสีน้ำเงิน) กับระบบขนส่งมวลชน 4 สาย คือ สายสีเทาของกรุงเทพ สายสีส้มบริเวณทางแยกลำสาลี รถไฟเชื่อมต่อท่าอากาศยาน (Airport Rail Link) บริเวณทางแยกต่างระดับพระราม 9 และสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่สถานีสำโรง
รายละเอียดแนวเส้นทาง
โดยแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงินระยะแรก) ที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว ไปตามแนวถนนลาดพร้าว โดยเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทาของกรุงเทพมหานครที่แยกฉลองรัช และยกระดับข้ามทางด่วนฉลองรัชจนถึงทางแยกบางกะปิ จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวขวาไปทางทิศใต้ตามถนนศรีนครินทร์ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ทางแยกลำสาลี ต่อจากนั้นแนวเส้นทางจะยกระดับข้ามทางแยกต่างระดับพระราม 9 โดยเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) และผ่านแยกพัฒนาการ แยกศรีนุช แยกศรีอุดมสุข แยกศรีเอี่ยม จนถึงแยกศรีเทพา จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวขวาอีกครั้งไปทางทิศตะวันตก ตามแนวถนนเทพารักษ์ ผ่านจุดเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่สถานีสำโรง และสิ้นสุดแนวเส้นทางบริเวณถนนปู่เจ้าสมิงพราย รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 30.4 กิโลเมตร ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 23 แห่ง โรงจอดรถศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง อาคารและลานจอดแล้วจร 1 แห่ง บริเวณพื้นที่ทางแยกต่างระดับศรีเอี่ยม
สถานี
ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 23 แห่ง โรงจอดรถศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง อาคารและลานจอดแล้วจร 1 แห่ง บริเวณพื้นที่ทางแยกต่างระดับศรีเอี่ยม โครงสร้างสถานีมีลักษณะเป็นโครงสร้างยกระดับเหนือพื้นผิวถนน ชานชาลาเป็นแบบด้านข้าง โดยบางสถานีจะเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนสายอื่นๆ เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ ภายในสถานียังมีสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งบันไดเลื่อน ลิฟต์ ห้องน้ำ และป้ายประชาสัมพันธ์ เพื่อผู้พิการอีกด้วย
ศูนย์ซ่อมบำรุง
ศูนย์ซ่อมบำรุงตั้งอยู่บนถนนศรีนครินทร์ บริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ตัดกับถนนบางนา - ตราด ใกล้กับสถานีศรีเอี่ยม ภายในศูนย์ซ่อมบำรุง ประกอบด้วยพื้นที่สำหรับตรวจสอบประจำ (Inspection) และการซ่อมบำรุง (Maintenance and Repair) พื้นที่สำหรับจอดรถไฟฟ้าและศูนย์ควบคุมการเดินรถ (Operation Central Control: OCC)
อาคารจอดแล้วจร
อาคารจอดแล้วจรโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองตั้งอยู่ติดกับสถานีศรีเอี่ยม บนถนนศรีนครินทร์สามารถรองรับรถยนต์ได้ประมาณ 2,800 คัน
ขบวนรถไฟฟ้า
รถไฟฟ้าใช้กระแสไฟฟ้ากระแสตรง 750 โวลต์ โดยใน 1 ขบวน จะประกอบไปด้วยตู้ 4 ตู้ ซึ่งในอนาคตสามารถต่อตู้เพิ่มได้เป็น 7 ตู้ต่อขบวนซึ่งจะสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้ถึง 28,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง
ขบวนรถเป็นแบบคร่อม (Straddle) ไร้คนขับซึ่งเป็นโครงการแรกของประเทศไทย ความเร็วในการให้บริการสูงสุดอยู่ที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ภายในมีสิ่งอำนวยความสะดวกตามหลัก Universal Design และระบบความปลอดภัยภายในขบวนรถแบบครบครัน โดยจำนวนขบวนรถที่ใช้ในโครงการมีทั้งหมด 30 ขบวน
ระบบจ่ายกระแสไฟฟ้า
ระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลใช้ระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าที่รับกระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง ที่ระดับแรงดัน 115 กิโลโวลต์ ผ่านสถานีจ่ายไฟฟ้าประธาน (Bulk Substation: BSS) จำนวน 2 แห่ง ที่จะทำหน้าที่ปรับระดับแรงดันเป็น 24 กิโลโวลต์ เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้กับสถานีไฟฟ้าย่อย (Service Substation) สำหรับจ่ายไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ภายในสถานีและสถานีไฟฟ้าย่อยขับเคลื่อน (Traction Substation) สำหรับแปลงไฟฟ้าจากกระแสสลับเป็นไฟฟ้ากระแสตรงแรงดัน 750 โวลต์เพื่อจ่ายให้กับรางนำกระแสไฟฟ้า (Conductor Rail) ตามแนวสายทาง เพื่อใช้ขับเคลื่อนรถไฟฟ้า
คานทางวิ่ง
Guideway Beam หรือคานทางวิ่งถูกติดตั้งไว้เป็นคู่ ขนานกันไปตลอดทั้งเส้นทาง ระหว่างคานทางวิ่งมีการติดตั้ง Walkway สำหรับอพยพในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน บนคานทางวิ่งมีการติดตั้ง Conductor rail หรือรางจ่ายไฟตลอดทั้งเส้นทาง
ประเภทของคานทางวิ่งที่ใช้ในโครงการ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทตามลักษณะโครงสร้างคือ
1. โครงสร้างเป็นคอนกรีต (Concrete Guideway Beam) เป็นคานทางวิ่งที่ใช้ทั่วไปในโครงการ มีความยาวประมาณ 30 เมตร
2. โครงสร้างเป็นเหล็ก (Steel Guideway Beam) มีความยาวตั้งแต่ 20 – 70 เมตร เป็นคานทางวิ่งที่ใช้สำหรับเส้นทางที่มีรัศมีวงเลี้ยวแคบ หรือใช้สำหรับทางวิ่งที่มีระยะห่างระหว่างเสามากกว่าปกติ เช่น ช่วงข้ามคลองหรือทางแยกขนาดใหญ่
ระบบโดยรวม
ระบบอาณัติสัญญาณ และระบบสื่อสาร ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สําโรง จะเหมือนกับสายเฉลิมรัชมงคล
อุปกรณ์ซ่อมบํารุงรถไฟฟ้า
อุปกรณ์ซ่อมบํารุงรถไฟฟ้าถูกติดตั้งอยู่ภายในอาคาร Main Workshop ประกอบไปด้วย รถตรวจสอบ - ซ่อมบํารุงทางวิ่ง (Maintenance - Inspection Vehicle: MIV) อุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ซ่อมแซม บํารุงรักษา ได้แก่ Overhead Crane ขนาด 2 ตัน และ 5 ตัน Bogie Maintenance Work Station (BMWS) อุปกรณ์เติมลมยาง รวมถึงอุปกรณ์ทําความสะอาดสําหรับขบวนรถไฟฟ้า ได้แก่ Train Wash Plant
ระบบประตูก้ันชานชาลา
เป็นแผงประตูกั้นระหว่างชานชาลากับรางรถไฟฟ้าตลอดความยาวของชานชาลา เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร โดยลักษณะของประตูท่ีใช้ในโครงการเป็นประตูแบบครึ่งบาน (Half Height Platform Screen Door) ทั้งหมด
ระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ
ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้ท้ังแบบตั๋วเท่ียวเดียวและแบบเติมเงินในบัตรโดยสาร รวมทั้งสามารถใช้บัตรเครดิตที่มี EMV Chip ซึ่งข้อมูลจะถูกส่งไปยังระบบจัดเก็บค่า โดยสารในระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Clearing House) ช่วยให้การจัดเก็บ ค่าโดยสารสามารถบริหารจัดการและตรวจสอบได้อย่างเป็นระบบ
รายการ | เงินลงทุน | หน่วย |
ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน | 6,013 | ล้านบาท |
ค่าก่อสร้างงานโยธา | 22,354 | ล้านบาท |
ค่างานระบบและขบวนรถไฟฟ้า | 21,939 | ล้านบาท |
ค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ | 1,504 | ล้านบาท |
รวม | 51,810 | ล้านบาท |