คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2562 ได้พิจารณาผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีนํ้าตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) โดยมีมติมอบ สนข. บรรจุแผนการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย - ลำสาลี (บึงกุ่ม) ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-MAP) ระยะที่ 1 พร้อมมอบกระทรวงคมนาคมมอบหมาย รฟม. ดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม)
แนวเส้นทาง
โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีชมพูบริเวณแยกแคราย วิ่งไปตามแนวถนนงามวงศ์วานจนถึงแยกบางเขนเพื่อเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง แล้วข้ามถนนวิภาวดี – รังสิต โดยลอดใต้โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและโครงการทางยกระดับอุตราภิมุข จนถึงแยกเกษตร ก่อนยกระดับข้ามโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อวิ่งต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านแยกฉลองรัชเพื่อเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ยาวไปจนถึงแยกนวมินทร์ ก่อนเลี้ยวลงทางทิศใต้ไปตามแนวถนนนวมินทร์จนถึงแยกสวนสน ซึ่งเป็นสถานีปลายทางที่สามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีเหลืองได้ และเป็นที่ตั้งของอาคารจอดแล้วจร และศูนย์ซ่อมบำรุง ทั้งนี้ พื้นที่ในช่วงถนนประเสริฐมนูกิจจะมีการใช้พื้นที่เกาะกลางร่วมกับโครงการทางพิเศษสายเหนือ ตอน N2 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยโครงการทางพิเศษฯ จะใช้ประโยชน์จากเสาตอม่อเดิมที่มีอยู่ ในขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลฯ จะมีโครงสร้างเสาตอม่ออยู่ระหว่างเสาตอม่อเดิมของโครงการทางพิเศษฯ โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลฯ จะอยู่ด้านใต้โครงการทางพิเศษ
สถานีและระยะทาง
จำนวนสถานี 20 สถานี ระยะทางรวม 22.1 กิโลเมตร โดยเป็นสถานียกระดับทั้งหมด ทั้งนี้ โครงการฯ มีรูปแบบสถานีแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ขึ้นอยู่กับการออกแบบโครงการ คือ สถานีที่ตั้งอยู่โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางพิเศษฯ โดยจะเป็นสถานีรูปแบบชานชาลาข้าง (Side Platform) หรือรูปแบบชานชาลากลาง (Centre Platform) และสถานีที่ตั้งอยู่ใต้โครงสร้างทางพิเศษฯ โดยมีทางวิ่งของรถไฟฟ้าขนาบข้างเสาทางพิเศษฯ ซึ่งจะเป็นสถานีรูปแบบชานชาลาข้าง (Side Platform) เท่านั้น
ศูนย์ซ่อมบำรุง
ศูนย์ซ่อมบำรุงตั้งอยู่บริเวณปลายสายทางของโครงข่ายเส้นทางการเดินรถ บนถนนพ่วงศิริ เลียบไปกับคลองแสนแสบและคลองหัวหมาก พื้นที่รวม 28 ไร่ เป็นอาคารขนาด 4 ชั้น โดยมีรูปแบบการใช้งานทั้งในส่วนที่จอดรถพนักงาน โรงบำบัดน้ำเสีย เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ ห้องเทคนิค ห้องประชุม ห้องฝ่ายปฏิบัติการการเดินรถ ศูนย์ควบคุมการเดินรถ (Operation Control Center: OCC) ห้องปฏิบัติการสำหรับระบบรถไฟฟ้าย่อย ลานจอดรถไฟฟ้า โรงล้างรถไฟฟ้า โรงซ่อมบำรุงรักษาหนักและเบา (Heavy and Light Maintenance) และสำนักงานสำหรับงานซ่อมบำรุงรถขบวนรถ
อาคารจอดแล้วจร
อาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง ตั้งอยู่บริเวณจุดตัดของถนนพ่วงศิริและถนนรามคำแหง เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าลำสาลี (BR-20) เป็นอาคารสูง 6 ชั้น รองรับการจอดรถยนต์ได้ประมาณ 280 คัน
โครงสร้างทางวิ่ง
โครงสร้างทางวิ่งยกระดับสำหรับระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) เป็นคานทางวิ่ง (Guideway Beam) โดยจะรองรับทางวิ่งจำนวน 2 ทิศทาง (ไป-กลับ)
ระบบรถไฟฟ้า
เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail System) ที่มีความจุปานกลาง – มาก ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยสถานีขับเคลื่อนไฟฟ้า (Traction Substation) จะจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง ระดับแรงดัน 750 VDC หรือ 1500 VDC เข้ารางตัวนำไฟฟ้าขั้วบวก และรับไฟฟ้ากลับสถานีขับเคลื่อนรถไฟฟ้า (Traction Substation) ผ่านรางตัวนำไฟฟ้าขั้วลบ โดยมีตำแหน่งการติดตั้งรางตัวนำไฟฟ้าทั้งสองรางอยู่ที่ด้านข้างของคานทางวิ่ง (Guideway Beam) ทั้งนี้ ในปีแรกที่เปิดให้บริการจะใช้ขบวนรถไฟฟ้าทั้งสิ้น 24 ขบวน (4 ตู้ต่อขบวน)
รายการ | เงินลงทุน | หน่วย |
1. ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน | 7,371 | ล้านบาท |
2. ค่าก่อสร้างงานโยธา | 19,247 | ล้านบาท |
3. ค่าติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า และงานจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า | 12,442 | ล้านบาท |
4. ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา งานติดตั้งและทดสอบงานระบบรถไฟฟ้า | 1,159 | ล้านบาท |
5. ค่า Provisional Sum | 1,501 | ล้านบาท |
รวม | 41,720 | ล้านบาท |
หมายเหตุ : อ้างอิงจาก รายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตาม พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) ฉบับเดือน พฤษภาคม 2566