แนวเส้นทาง
ช่วงหัวลำโพง - บางซื่อ
ระยะทาง 20 กม. เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดินตลอดสาย มีลักษณะเป็นอุโมงค์คู่ รางเดี่ยว มีสถานีใต้ดินจํานวน 18 สถานี และเป็นโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน สายแรกของประเทศไทย เริ่มต้นที่สถานีหัวลําโพง ผ่านถนนพระรามที่ 4 เลี้ยวซ้ายผ่านศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผ่านอโศก ถนนรัชดาภิเษก เลี้ยวซ้ายเข้าถนนลาดพร้าวผ่านสวนจตุจักร ตลาดนัดจตุจักร และ สิ้นสุดที่สถานีบางซื่อ
ช่วงหัวลำโพง - บางแค
ระยะทาง 16 กม. เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดินมีลักษณะทางวิ่งอุโมงค์คู่รางเดี่ยว ในช่วงหัวลำโพง - ท่าพระ ระยะทาง 5.4 กม. มีสถานีใต้ดินจำนวน 4 สถานี และทางวิ่งยกระดับในช่วงท่าพระ - บางแค ระยะทาง 10.5 กม. มีสถานียกระดับจำนวน 7 สถานี โครงการจะเริ่มต้นที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหัวลำโพง เป็นเส้นทางใต้ดินตามแนวถนนพระราม 4 ผ่านถนนเจริญกรุง วังบูรพา ถนนสนามไชย ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณปากคลองตลาด ลอดใต้คลองบางกอกใหญ่ ถนนอิสรภาพ แล้วเปลี่ยนเป็นเส้นทางยกระดับมีลักษณะเป็นทางวิ่งรางคู่บนเสาตอม่อบริเวณบนเกาะกลางถนนเข้าสู่สี่แยกท่าพระ ซึ่งจะมีสถานีร่วมกับโครงการฯ สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ - ท่าพระ ไปตามแนวถนนเพชรเกษม ผ่านบางไผ่ บางหว้า บางแค และสิ้นสุดสายทางที่บริเวณวงแหวนรอบนอกถนนกาญจนาภิเษก
ช่วงบางซื่อ - ท่าพระ
ระยะทาง 12 กม. เป็นเส้นทางยกระดับทั้งหมดมี 9 สถานี มีลักษณะเป็นทางวิ่งรางคู่บนเสาตอม่อ บริเวณเกาะกลางถนน โครงการจะเริ่มต้นโดยการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล บริเวณสถานีบางซื่อ ผ่านสถานีเตาปูนซึ่งเป็นสถานีร่วมกับโครงการฯ สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ - บางซื่อ เข้าสู่ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ผ่านสี่แยกบางโพ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เลี้ยวซ้ายเข้าถนนจรัญสนิทวงศ์บริเวณโรงเรียนเทคโนโลยีพระราม 6 ผ่านแยกบางพลัด แยกบรมราชชนนี แยกไฟฉาย และสิ้นสุดที่แยกท่าพระ โดยเชื่อมต่อกับโครงการฯ สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแค
สถานีรถไฟฟ้า
มีระยะทางรวม 48 กม. มีจำนวนสถานีทั้งหมด 38 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 22 สถานี และสถานียกระดับ 16 สถานี
อุโมงค์
เป็นอุโมงค์คู่รางเดี่ยว คือ เดินรถอุโมงค์ละหนึ่งทิศทาง มีเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน 5.7 เมตร หนา 30 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางภายนอก 6.3 เมตร
รางรถไฟฟ้า
เป็นรางมาตรฐาน UIC 54 กว้าง 1.435 เมตร จ่ายกระแสไฟฟ้าโดยรางที่ 3 ในอุโมงค์จะยึดติดคอนกรีตโดยตรงเพื่อประสิทธิภาพในการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วและความนุ่มนวลของการเดินรถ ส่วนรางบริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงใช้หมอนรองรางเพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้ายและบำรุงรักษา
ศูนย์ซ่อมบำรุง
ใช้พื้นที่ประมาณ 300 ไร่ เป็นโครงสร้างยกระดับประมาณ 3 เมตร ประกอบด้วย อาคารโรงซ่อมบำรุง อาคารศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการ สถานีจอดรถไฟฟ้า อาคารโรงซ่อมบำรุง รางวิ่งทดสอบ และอาคารบริหาร
อาคารจอดแล้วจร
ในโครงการมีลานจอดรถและอาคารจอดแล้วจร จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ สถานีลาดพร้าว สถานีรัชดาภิเษก สถานีห้วยชวาง สถานีศูนย์วัฒนธรรม สถานีพระราม 9 สถานีเพชรบุรี สถานีสุขุมวิท สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานีสามย่าน สถานีหลักสอง
ขบวนรถไฟฟ้า
รถไฟฟ้าที่นำมาให้บริการเป็นรถไฟฟ้าประเภทรางหนัก (Heavy Rail) ขนาดกว้าง 3.12 เมตร ยาว 21.5 – 21.8 เมตร สูงประมาณ 3.86 เมตร ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ากระแสตรงแรงดัน 750 โวลต์จากรางที่ 3 (Third rail) ผ่านอุปกรณ์รับไฟฟ้า (Current Collector Shoes) และควบคุมการเดินรถด้วยระบบอัตโนมัติจากศูนย์ควบคุมการเดินรถ โดยสามารถทำความเร็วได้สูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ปัจจุบันรถไฟฟ้าในโครงการมีทั้งหมด 54 ขบวน โดยแบ่งเป็น รถไฟฟ้ารุ่นแรก 19 ขบวน (มีความจุผู้โดยสารต่อ 3 ตู้: 1,139 คน) และรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ 35 ขบวน (มีความจุผู้โดยสารสูงสุดต่อ 3 ตู้: 1,134 คน) โดยรถไฟฟ้าใน 1 ขบวน จะประกอบไปด้วย 3 ตู้ ซึ่งในอนาคตสามารถเพิ่มได้สูงสุด 6 ตู้
ระบบอาณัติสัญญาณ
เป็นระบบที่ใช้ในการควบคุมการเดินรถไฟฟ้าทั้งหมด โดยมีการรับ - ส่งข้อมูลระหว่างศูนย์ควบคุมการเดินรถและขบวนรถไฟฟ้าเพื่อให้การบริหารมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูงสุด ประกอบด้วย 3 ระบบ ได้แก่ ระบบเดินรถอัตโนมัติ (Automatic Train Operation: ATO), ระบบป้องกันความผิดพลาดของการเดินรถอัตโนมัติ (Automatic Train Protection: ATP) และระบบติดตามการเดินรถอัตโนมัติ (Automatic Train Supervision: ATS)
ระบบจ่ายไฟฟ้าและระบบควบคุมและจัดเก็บข้อมูล
ระบบจ่ายไฟฟ้า ทำหน้าที่จ่ายไฟฟ้าให้กับทุกส่วนของโครงการ มีการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าฉุกเฉิน ในกรณีที่สถานีไฟฟ้าทั้งหมดของโครงการไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้
ระบบควบคุมและจัดเก็บข้อมูล ทำหน้าที่ควบคุมและจัดเก็บข้อมูลของอุปกรณ์งานระบบรถไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในสถานีรถไฟฟ้า ผ่านโครงข่ายสื่อสารข้อมูลใยแก้วนำแสง เพื่อช่วยสนับสนุนการเดินรถให้มีความสะดวกรวดเร็ว และปลอดภัย
อุปกรณ์ซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้า
อุปกรณ์ซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้า ประกอบไปด้วย รถซ่อมบำรุง อุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ซ่อมแซม บำรุงรักษา รวมถึงการทำความสะอาดสำหรับงานระบบรถไฟฟ้า
ระบบประตูกั้นชานชาลา
เป็นแผงประตูกั้นระหว่างชานชาลากับรางรถไฟฟ้าตลอดความยาวของชานชาลา เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร โดยจะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประตูแบบครึ่งบาน (Half Height Platform Screen Door) ติดตั้งในสถานียกระดับ และประตูแบบเต็มบาน (Full Height Platform Screen Door) ติดตั้งในสถานีใต้ดิน
ระบบสื่อสารโทรคมนาคม
ระบบสื่อสารโทรคมนาคม ทำหน้าที่รับส่งข้อมูลภายในระบบรถไฟฟ้า ได้แก่ ข้อความ เสียงภาพ และวิดิโอ ผ่านโครงข่ายใยแก้วนำแสงและระบบวิทยุสื่อสาร เชื่อมโยงระหว่างสถานี ขบวนรถไฟฟ้า และศูนย์ควบคุมการเดินรถ รวมทั้งมีระบบ CCTV เฝ้าระวังเหตุและบันทึกภาพบริเวณสถานีและศูนย์ซ่อมบำรุง นอกจากนี้ยังมีการแจ้งข้อมูลการเดิน และข้อมูลข่าวสารที่สำคัญให้แก่ผู้โดยสารภายในสถานีอีกด้วย
ระบบการจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ
ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้ทั้งแบบตั๋วเที่ยวเดียวและแบบเติมเงินในบัตรโดยสาร รวมทั้งสามารถใช้บัตรเครดิตที่มี EMV Chip ซึ่งข้อมูลจะถูกส่งไปยังระบบจัดเก็บค่าโดยสารในระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Clearing House) ช่วยให้การจัดเก็บค่าโดยสารสามารถบริหารจัดการและตรวจสอบได้อย่างเป็นระบบ
สิ่งอำนวยความสะดวก
ภายในสถานีได้จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้แก่ผู้ใช้บริการ รวมทั้งผู้พิการ คนชราและหญิงมีครรภ์ ได้แก่ ลิฟต์ บันไดเลื่อน ระบบปรับอากาศทั้งภายในสถานีและตัวรถ ร้านค้าปลีก และห้องน้ำ สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ภายในลิฟต์จะมีอักษรเบรลล์ บริเวณชานพัก บันไดภายในสถานีจะมีปุ่มสัญลักษณ์สำหรับผู้พิการทางสายตา นอกจากนั้นภายในห้องน้ำยังได้ติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้ผู้พิการสามารถใช้ได้อย่างสะดวกด้วย
ระบบป้องกันน้ำท่วม
เนื่องจากกรุงเทพมหานครมักประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่เสมอๆ ดังนั้นในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล จึงได้มีการกำหนดแนวทางความปลอดภัยในการออกแบบเพื่อป้องกันน้ำท่วมภายในตัวสถานีและอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน โดยใช้ค่าระดับที่ 1 เมตร เหนือค่าระดับน้ำท่วมกรุงเทพฯ สูงสุดในรอบ 200 ปี เป็นค่ากำหนดในการนำไปใช้ออกแบบทางขึ้น - ลง สถานี และช่องเปิดต่างๆ ซึ่งน้ำสามารถไหลเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินได้ ดังนี้
1. ตำแหน่งอาคารทางขึ้น - ลงสถานี ได้กำหนดให้ทางขึ้น – ลงสถานี มีระดับความสูงเท่ากับค่าระดับน้ำฝนสูงสุดในรอบ 200 ปี คือ 1.2 - 1.5 เมตร พร้อมทั้งติดตั้ง Stop Log ที่มีความสูงขึ้นไปอีก 1 เมตร เพื่อปิดกั้นหากน้ำมีระดับสูงขึ้นกว่า 1.5 เมตร
2. ตำแหน่งปลายอุโมงค์ชั้นใต้ดินที่ศูนย์ซ่อมบำรุง ซึ่งเป็นบริเวณที่ปลายอุโมงค์บรรจบกับพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุงได้ก่อสร้างให้มีค่าความสูงเท่ากับทางขึ้น - ลงสถานี และในช่องปลายอุโมงค์ที่มีความลาดชันได้มีการออกแบบไว้ให้มีบ่อพักเพื่อดักและเก็บน้ำที่จะไหลเข้าสู่ตัวอุโมงค์อันเนื่องจากฝนตกทั่วไป พร้อมทั้งมีปั๊มน้ำเพื่อสูบน้ำออกจากบ่อพักดังกล่าวออกจากตัวอุโมงค์
3. ตำแหน่งอาคารปล่องระบายอากาศหรือทางขึ้น - ลงฉุกเฉิน ค่าระดับฐานหรือพื้นอาคารได้ก่อสร้างให้มีความสูงเช่นเดียวกับความสูงของทางขึ้น - ลงสถานีข้างต้น
ระบบป้องกันอัคคีภัย
ได้กำหนดให้ออกแบบและก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าใต้ดินเป็นไปตามมาตรฐานสากล คือ มาตรฐาน NFPA 130 ซึ่งจะมีทั้งการป้องกันและระงับเหตุอัคคีภัย ดังนี้
1. การป้องกันการเกิดอัคคีภัย ลดโอกาสที่จะเกิดอัคคีภัย หรือหากมีอัคคีภัยเกิดขึ้นก็จะอยู่ในวงจำกัด โดยการกำหนดคุณลักษณะและคุณสมบัติของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง รวมทั้งกำหนดรูปแบบของอาคาร เช่น การเลือกใช้วัสดุที่ไม่ติดไฟง่าย
2. การระงับเหตุอัคคีภัย จุดประสงค์หลักเพื่อระงับการเกิดเพลิงไหม้รวมถึงการอำนวยความสะดวกผู้ประสบเหตุในการหนีไฟให้รวดเร็วและปลอดภัยที่สุด โดยออกแบบให้สามารถอพยพผู้โดยสารสู่จุดปลอดภัยได้ภายใน 6 นาที จัดให้มีระบบสัญญาณแจ้งเหตุและเตือนภัยอัตโนมัติ ระบบประกาศสาธารณะและบอกทิศทางในกรณีฉุกเฉิน ระดับเพลิงอัตโนมัติ ซึ่งมีน้ำเพียงพอที่จะดับไฟภายในสถานีได้ถึง 45 นาที นอกจากนั้น ยังมีท่อดับเพลิงและหัวดับเพลิงซึ่งสามารถรับน้ำจากภายนอกได้ โดยติดตั้งตลอดแนวอุโมงค์ในระยะทุก 50 เมตร เป็นต้น
ความปลอดภัยของผู้โดยสาร
ภายในสถานีได้ออกแบบให้เป็นพื้นที่โล่ง ไม่มีซอกมุมและถังขยะเพื่อเป็นที่ซุกซ่อนของสิ่งแปลกปลอม และมีโทรทัศน์วงจรปิดติดตั้งทุกระยะเพื่อตรวจความเรียบร้อยภายในสถานีตลอดเวลา
ทุกสถานีจะมีเจ้าที่รักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นหน้าที่ของ รฟม. และเจ้าหน้าที่ของบริษัทผู้รับสัมปทาน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลซึ่งแต่ละสถานีตำรวจจะส่งมาประจำ นอกจากนั้น ยังมีโทรทัศน์วงจรปิดติดตามจุดต่างๆ ภายในสถานีทุกชั้น
บริเวณชานชาลาจะมีประตูชานชาลาซึ่งติดตั้งไว้ทุกสถานีเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารในระหว่างรอรถ ลักษณะเป็นกำแพงกระจกตลอดความยาวของชานชาลา ประตูชานชาลานี้ออกแบบมาให้เปิดออกได้ก็ต่อเมื่อมีรถไฟฟ้าจอดสนิทที่ชานชาลาเท่านั้น นอกจากนี้ บานประตูทุกบานยังมีระบบตรวจจับสิ่งกีดขวางเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารติดอยู่ระหว่างประตู
รายการ | เงินลงทุน | หน่วย |
ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน | 5,900.00 | ล้านบาท |
ค่าก่อสร้างงานโยธา | 53,683.75 | ล้านบาท |
ค่างานระบบรถไฟฟ้า | 22,785.42 | ล้านบาท |
รวม | 82,369.17 | ล้านบาท |