รฟม. ขานรับนโยบายกระทรวงคมนาคม พัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟฟ้าคลองบางไผ่ เป็นศูนย์คมนาคมขนส่งด้านตะวันตก

18 มิถุนายน 2567
preview image
รฟม. ขานรับนโยบายกระทรวงคมนาคม พัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟฟ้าคลองบางไผ่ เป็นศูนย์คมนาคมขนส่งด้านตะวันตก
 
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟฟ้าคลองบางไผ่ ของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ให้เป็นศูนย์คมนาคมขนส่งด้านตะวันตก (คลองบางไผ่) ตามนโยบายของ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างระบบขนส่งสาธารณะทางบกและทางราง แบบไร้รอยต่อ (Seamless Transport) อำนวยความสะดวกและรวดเร็วให้แก่ประชาชน โดยตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป ทั้งผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และผู้ใช้บริการอาคารจอดแล้วจรที่สถานีรถไฟฟ้าคลองบางไผ่ ตลอดจนประชาชนในละแวกใกล้เคียง จะสามารถเข้าถึงบริการรถโดยสารประจำทางได้ที่จุดจอดรถรับ-ส่ง “สถานีรถไฟฟ้าคลองบางไผ่” เพื่อเดินทางสู่ที่หมายหลากหลายเส้นทางทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด โดยมีจุดให้บริการรถโดยสารรับ-ส่งเพิ่มเติม ดังนี้

ท่ารถโดยสารประจำทาง สายที่ 2-29 สถานีรถไฟฟ้าคลองบางไผ่ - เซ็นทรัลพระราม 2 ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นเส้นทางรถโดยสารประจำทางสายใหม่เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป จุดจอดรถรับ-ส่งอยู่บริเวณใกล้ทางเข้า-ออกที่ 3 หน้าอาคารจอดแล้วจรสถานีรถไฟฟ้าคลองบางไผ่ (ฝั่งถนนด้านในชิดอาคาร) 

จุดจอดรถโดยสารประจำทางของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) บริเวณใกล้ทางเข้า-ออกที่ 4 สถานีรถไฟฟ้าคลองบางไผ่ ติดถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตก) จำนวน 11 เส้นทาง ดังนี้
- สายที่ 68 กรุงเทพฯ - วัดไผ่โรงวัว - สองพี่น้อง
- สายที่ 69 กรุงเทพฯ - บางบัวทอง - ด่านช้าง (ช่วงกรุงเทพฯ – สามชุก)
- สายที่ 952 กรุงเทพฯ - สุพรรณบุรี (ช่วงกรุงเทพฯ – วิเศษชัยชาญ)
- สายที่ 953 กรุงเทพฯ - เดิมบางนางบวช - หันคา (ช่วงกรุงเทพฯ – ท่าช้าง)
- สายที่ 966 กรุงเทพฯ – โรงเรียนการบินกำแพงแสน
- สายที่ 974 กรุงเทพฯ – บางบัวทอง - สุพรรณบุรี
- สายที่ 975 กรุงเทพฯ - บางบัวทอง - ท่าช้าง
- สายที่ 9918 กรุงเทพฯ - ด่านเจดีย์สามองค์
- สายที่ 9919 กรุงเทพฯ - บางใหญ่ - พระนครศรีอยุธยา
- สายที่ 793 รังสิต - นครปฐม
- สายที่ 794 รังสิต – ปราณบุรี

นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. และบริษัท สมาร์ทบัส จำกัด จอดรับ-ส่งบริเวณสถานีรถไฟฟ้าคลองบางไผ่ รวม 4 เส้นทาง ดังนี้
- สายที่ 2-20 หมู่บ้านบัวทองเคหะ - สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) 
- สายที่ 2-25 หมู่บ้านบัวทองเคหะ – เทเวศร์ 
- สายที่ 2-8 วัดปรางค์หลวง - บางเขน
- สายที่ 2-19 ตลาดบางบัวทอง - บางลำพู

ปัจจุบัน รฟม. ได้ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ศูนย์คมนาคมขนส่งด้านตะวันตก (คลองบางไผ่) แล้ว พร้อมกันนี้อยู่ระหว่างการปรับภูมิทัศน์ที่พักผู้โดยสารบริเวณทางเข้า-ออกที่ 2 สถานีรถไฟฟ้าคลองบางไผ่ เพื่อรองรับการใช้บริการของประชาชนได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย นอกจากนี้ ได้เตรียมจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ข้อมูล และป้ายแนะนำบอกเส้นทางการใช้บริการรถโดยสารประจำทาง ที่จะแสดงอยู่บริเวณทางเข้า-ออกของสถานีรถไฟฟ้าคลองบางไผ่ เพื่อเป็นการให้ข้อมูล สร้างการรับรู้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการอีกด้วย 

ทั้งนี้ สถานีรถไฟฟ้าคลองบางไผ่ เป็นสถานีต้นทาง/ปลายทาง ของรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ที่มีเส้นทางให้บริการในแนวถนนกาญจนาภิเษก ถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนติวานนท์ ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ถึง สถานีรถไฟฟ้าเตาปูน รวม 16 สถานี ระยะทางประมาณ 23 กิโลเมตร เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างจังหวัดนนทบุรีกับกรุงเทพมหานคร อีกทั้งผู้โดยสารรถไฟฟ้ายังสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปยังระบบรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ได้ที่สถานีรถไฟฟ้าศูนย์ราชการนนทบุรี - เชื่อมต่อรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ที่สถานีรถไฟฟ้าบางซ่อน - เชื่อมต่อรถไฟฟ้าชานเมือง สายนครวิถี (สายสีแดง) และที่สถานีรถไฟฟ้าเตาปูน - เชื่อมต่อรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) หรือเปลี่ยนเส้นทางเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะทางน้ำได้ที่สถานีรถไฟฟ้าสะพานพระนั่งเกล้า – เชื่อมต่อท่าเรือพระนั่งเกล้า รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง จึงเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชนที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยอย่างยิ่ง ไม่เพียงเท่านี้ พื้นที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าคลองบางไผ่ ยังมีอาคารจอดแล้วจรให้บริการประชาชน สามารถรองรับรถยนต์ได้ 1,986 คัน และรถจักรยานยนต์ 416 คัน เพื่อช่วยส่งเสริมให้ผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลสามารถนำรถมาจอดและเดินทางเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ ได้โดยสะดวก ติดตามข้อมูลข่าวสาร รฟม. เพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทรศัพท์ 0 2716 4044 “รฟม. ร่วมยกระดับเมืองด้วยโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและนวัตกรรม เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”
preview image
preview image
preview image
preview image