รฟม. ฉลองครบรอบ 29 ปี วันคล้ายวันก่อตั้ง รฟม. ในวันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม 2564 ภายใต้แนวคิด “The Unlimited Move
21 August 2564 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ฉลองครบรอบ 29 ปี วันคล้ายวันก่อตั้ง รฟม. ในวันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม 2564 ภายใต้แนวคิด “The Unlimited Move ไม่หยุดขับเคลื่อนความสุขของคนเมือง”
เพื่อสื่อสารคำมั่นว่า “รฟม. พร้อมเดินหน้าพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อส่งมอบความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้บริการ อันเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมืองอย่างยั่งยืน”
โดยในโอกาสพิเศษนี้ รฟม. ร่วมกับ บริษัทผู้ร่วมลงทุน/ผู้รับสัมปทาน บริษัทที่ปรึกษาโครงการ บริษัทผู้รับเหมา หน่วยงานภาครัฐ และผู้มีจิตศรัทธา ได้ร่วมบริจาคเงินให้แก่มูลนิธิออทิสติกไทย
ตลอดจนสนับสนุนให้น้องๆ กลุ่มออทิสติกได้มีโอกาสแสดงออกถึงพรสวรรค์และจินตนาการ ผ่านงานออกแบบชุดของที่ระลึก “MRTA x ARTSTORY by Autistic Thai” ซึ่ง รฟม. จะนำส่งมอบให้แก่หน่วยงานที่มาร่วมแสดงความยินดีผ่านทางระบบออนไลน์ต่อไป
หนังสือฉบับพิเศษในโอกาสครบรอบ 29 ปี รฟม.
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า รฟม. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2535 โดยมีภารกิจในการสร้างโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพและช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตเมือง ทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตลอดจนจังหวัดใหญ่ในภูมิภาคอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบัน รฟม. ประสบความสำเร็จในการเปิดให้บริการรถไฟฟ้ามหานครแล้ว จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) และแม้จะเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อยู่บ้าง รฟม. ยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะกำกับการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าให้คืบหน้าต่อไปได้ โดยอาศัยการรณรงค์สร้างจิตสำนึกความปลอดภัยทั้งต่อตนเองและต่อสังคมส่วนรวม และการควบคุมให้ผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดต่างๆ อย่างเคร่งครัดควบคู่กันไป ส่งผลให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง มีความก้าวหน้าโดยรวม 81.40% (ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2564) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี มีความก้าวหน้าโดยรวม 78.77% (ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2564) คาดว่าทั้งสองโครงการจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2565 สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีความก้าวหน้างานโยธา 84.44% (ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2564) ซึ่งเมื่อรวมกับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ที่อยู่ในระหว่างเตรียมดำเนินการ จะกลายเป็นอีกหนึ่งโครงข่ายสำคัญที่เชื่อมต่อกรุงเทพมหานครในแนวฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก เมื่อเปิดให้บริการได้ตามแผนในปี 2570 นอกจากนี้ รฟม. ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการ และมีแผนจะเปิดให้บริการในปี 2570 เช่นเดียวกันนี้อีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ซึ่งจะเป็นการต่อขยายแนวเส้นทางจากรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ที่สถานีเตาปูน (เขตบางซื่อ) ลงมาทางทิศใต้ของกรุงเทพมหานคร และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย - ลำสาลี (บึงกุ่ม) ที่มีโครงสร้างร่วมกันกับโครงสร้างทางด่วน ของ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
ในส่วนของภารกิจการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเขตเมืองหลักภูมิภาค รฟม. มีความพร้อมในการผลักดันโครงการในระยะแรกในพื้นที่ 4 จังหวัด รวมจำนวน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง, โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี, โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ และโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดพิษณุโลก สายสีแดง ช่วงมหาวิทยาลัยพิษณุโลก – ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพิษณุโลก เพื่อเป็นการรองรับแผนพัฒนาระบบขนส่ง และระบบโลจิสติกส์อื่นๆ ของกระทรวงคมนาคม ตลอดจนขับเคลื่อนเศรษฐกิจองค์รวมของประเทศไทยไปจนถึงระดับภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 29 ปี รฟม. ได้ยึดมั่นในการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล และการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อพัฒนาองค์กรและกำกับงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิผลสำเร็จเป็นโครงข่ายที่ครอบคลุมทุกการเดินทาง ทั้งยังตระหนักถึงความสำคัญในการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม เพื่อนำมาพัฒนา ปรับปรุง ต่อยอดการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนขององค์กร สำหรับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility : CSR) รฟม. คำนึงถึงผลกระทบจากการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งในกระบวนการดำเนินงานหลักขององค์กร (CSR In Process) และการใส่ใจช่วยเหลือสังคมผ่านโครงการต่างๆ (CSR After Process) ให้แก่ชุมชนตามแนวสายทางโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการกล่องทันใจเติมความสุขให้ประชาชน เพื่อช่วยเหลือธุรกิจร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และส่งเป็นกำลังใจให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยที่โรงพยาบาลต่างๆ กิจกรรมบริจาคเงินและสิ่งของที่จำเป็นให้แก่โรงพยาบาลและสถานพยาบาล รวมทั้งโครงการส่งเสริมอาชีพ ผลิตภัณฑ์ บริการ และแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนในเส้นทางรถไฟฟ้า เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนตามแนวสายทางโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ เป็นต้น ซึ่ง รฟม. เชื่อมั่นว่า ภารกิจทั้งหมดนี้จะขับเคลื่อนให้ รฟม. และสังคมเติบโตควบคู่ไปพร้อมกัน และต่อยอดไปสู่ความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน