กระทรวงคมนาคม ถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้มมาตรการความปลอดภัยในระบบรถไฟฟ้า แก้ไขเร่งด่วน และป้องกันการเกิดเหตุซ้ำรอย ล้อประคองหลุดจากขบวนรถไฟฟ้าโมโนเรล

03 January 2567
preview image

กระทรวงคมนาคม ถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้มมาตรการความปลอดภัยในระบบรถไฟฟ้า

แก้ไขเร่งด่วน และป้องกันการเกิดเหตุซ้ำรอย ล้อประคองหลุดจากขบวนรถไฟฟ้าโมโนเรล


วันนี้ (3 มกราคม 2567) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงข่าวชี้แจงกรณี เกิดเหตุล้อประคอง (Guide Wheel) ของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง หลุดร่วงลงมาจากขบวนรถไฟฟ้า ระหว่างสถานีทิพวัล และสถานีศรีเทพา บนถนนเทพารักษ์ เมื่อเวลาประมาณ 18.30 น. ของวันที่ 2 มกราคม 2567 โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องราชดำเนิน อาคารราชสโมสร ชั้น 2 กระทรวงคมนาคม


นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กระทรวงคมนาคม มีความห่วงใยและไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเรื่องดังกล่าว โดยได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุการณ์ตั้งแต่เมื่อวานในช่วงหัวค่ำ และได้เน้นย้ำให้ผู้รับสัมปทาน (บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM) รับผิดชอบเยียวยา     ความเสียหายให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้ รฟม. และผู้รับสัมปทาน เร่งตรวจสอบสาเหตุ โดยละเอียดเพื่อรายงานให้กระทรวงคมนาคมทราบต่อไป และหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง รวมถึงประชาชนผู้สัญจรผ่านในแนวสายทาง


นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุดังกล่าว รฟม. และผู้รับสัมปทาน ร่วมกับบริษัท Alstom ผู้ผลิตรถไฟฟ้าโมโนเรลที่ใช้ในโครงการฯ ได้เข้าตรวจสอบสาเหตุพบว่า ล้อประคองที่หลุดร่วงจากขบวนรถไฟฟ้าเกิดจากข้อบกพร่อง (Defect) ของบริษัทผู้ผลิต ซึ่งขณะนี้ได้มีการส่งให้ห้องปฏิบัติการ ตรวจสอบสาเหตุเชิงลึกทางวิศวกรรมแล้ว อาจต้องรอผลการตรวจสอบอีกระยะหนึ่งจึงจะได้ข้อสรุป อย่างไรก็ตาม ล้อดังกล่าวมีอายุการใช้งานประมาณ 300,000 กิโลเมตร แต่ปัจจุบันเพิ่งใช้งานไปได้เพียงประมาณ 62,000 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 20% เท่านั้น และผู้รับสัมปทานได้มีการซ่อมบำรุง (Maintenance) ครบถ้วนตามขั้นตอนที่กำหนดในคู่มือแล้ว ซึ่งจากนี้ไปกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ผู้รับสัมปทานเพิ่มความถี่ในการซ่อมบำรุงให้มากขึ้น

นอกจากนี้ รฟม. ร่วมกับผู้รับสัมปทาน และบริษัทผู้ผลิต ได้ดำเนินการตรวจสอบรถไฟฟ้าทุกขบวน ทุกล้อ และลูกปืนโดยละเอียด ก่อนจะทยอยนำขบวนเข้ามาวิ่งให้บริการในระบบอีกครั้ง เพื่อป้องกันความเสี่ยงไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำอีก ขณะนี้มีรถไฟฟ้าวิ่งในระบบ 5 ขบวน และจะทยอยเพิ่มขบวนรถเข้ามาในระบบเรื่อยๆ โดยระหว่างนี้จะให้บริการฟรี จนกว่าจะเข้าสู่สถานการณ์ปกติในวันเสาร์ที่ 6 มกราคม 2567 นี้ ซึ่งเป็นช่วงนอกเวลาเร่งด่วนที่จะให้บริการด้วยความถี่ในการเดินรถ 10 นาที และถัดไปในวันจันทร์ที่ 8 มกราคม 2567 จะมีการให้บริการในชั่วโมงเร่งด่วนที่ความถี่ในการเดินรถ 5 นาที ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าไม่ได้รับความสะดวกสบายเท่าที่ควร อย่างไรก็ดี กระทรวงคมนาคมยังคงมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมให้ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเป็นทางเลือกในการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย สำหรับประชาชน เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหา PM 2.5 ได้อย่างยั่งยืน

preview image
preview image
preview image
preview image