รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล
บริษัทผู้รับสัมปทาน
บริษัทผู้รับสัมปทาน : บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
แนวเส้นทาง
แนวเส้นทาง
โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล เป็นรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทย มีระยะทางทั้งสิ้น 20 กิโลเมตร เริ่มต้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ผ่านถนนพระรามที่ 4 เลี้ยวเข้าถนนรัชดาภิเษก ผ่านศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถนนอโศก สี่แยกพระราม 9 สี่แยกสุทธิสาร เลี้ยวเข้าถนนลาดพร้าวที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว ผ่านส่วนจตุจักร เข้าถนนกำแพงเพชร สิ้นสุที่สถานีรถบางซื่อ รวมทั้งสิ้น 18 สถานี ประกอบด้วย
- สถานีหัวลำโพง
- สถานีสามย่าน
- สถานีสีลม
- สถานีลุมพินี
- สถานีคลองเตย
- สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
- สถานีสุขุมวิท
- สถานีเพชรบุรี
- สถานีพระราม 9
- สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
- สถานีห้วยขวาง
- สถานีสุทธิสาร
- สถานีรัชดาภิเษก
- สถานีลาดพร้าว
- สถานีพหลโยธิน
- สถานีสวนจตุจักร
- สถานีกำแพงเพชร
- สถานีบางซื่อ
การจัดเก็บค่าโดยสาร
การจัดเก็บค่าโดยสาร
บัตรโดยสาร
แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1. เหรียญโดยสาร มีลักษณะเป็นเหรียญพลาสติกวงกลม สามารถซื้อได้จากเครื่องจำหน่ายบัตรโดยสาร ใช้สำหรับการโดยสารเพียงเที่ยวเดียว
2. บัตรโดยสารชนิดเติมเงิน มีลักษณะเท่ากับบัตรเครดิต สามารถซื้อได้จากห้องจำหน่ายบัตรโดยสารในสถานี เหมาะสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้บริการเป็นประจำ
เครื่องจำหน่ายบัตรโดยสาร
เป็นระบบอัตโนมัติแบบสัมผัส รับได้ทั้งเหรียญและธนบัตร และสามารถทอนเงินได้
ประตูอัตโนมัติ
สามารถเปิดได้โดยไม่จำเป็นต้องสอดบัตรหรือเหรียญโดยสาร เพียงนำบัตรหรือเหรียญเข้าใกล้ประมาณ 10 เซนติเมตร เครื่องจะเปิดได้เองโดยอัตโนมัติ
การให้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวก
การให้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวก
ระบบรถ
รถไฟฟ้าที่นำมาให้บริการเป็นรถขนาดใหญ่ ปรับอากาศ ขนาดกว้าง 3.12 เมตร ยาว 21.5 – 21.8 เมตร สูงประมาณ 3.8 เมตร ใช้ไฟฟ้า 750 โวลต์ กระแสตรงป้อนระบบขับเคลื่อนรถ ใช้มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับขับเคลื่อนตัวรถ ควบคุมการเดินรถด้วยระบบอัตโนมัติจากศูนย์ควบคุม
อัตราขนส่งผู้โดยสาร
ขบวนรถไฟฟ้ามีทั้งหมด 19 ขบวน ๆ ละ 3 ตู้ รถไฟฟ้า 1 ขบวน ประกอบด้วย 3 หรือ 6 ตู้ รถไฟฟ้า 1 ขบวน (3 ตู้) บรรจุผู้โดยสารได้ประมาณ 886 คน
ความเร็วรถ
รถไฟฟ้ามีอัตราความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ในการเดินรถจะใช้อัตราความเร็วเฉลี่ย 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ลักษณะโครงสร้าง
ลักษณะโครงสร้าง
สถานี
รถไฟฟ้าที่นำมาให้บริการเป็นรถขนาดใหญ่ ปรับอากาศ ขนาดกว้าง 3.12 เมตร ยาว 21.5 – 21.8 เมตร สูงประมาณ 3.8 เมตร ใช้ไฟฟ้า 750 โวลต์ กระแสตรงป้อนระบบขับเคลื่อนรถ ใช้มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับขับเคลื่อนตัวรถ ควบคุมการเดินรถด้วยระบบอัตโนมัติจากศูนย์ควบคุม โครงสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กอยู่ใต้ดินลึกจากผิวถนนประมาณ 15 – 25 เมตร สถานีจะมีความกว้างประมาณ 18 – 25 เมตร ยาวประมาณ 150 – 200 เมตร ขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ โดยสถานีส่วนใหญ่จะเป็นแบบชานชาลาอยู่ตรงกลาง รางรถไฟฟ้าจะอยู่ 2 ด้านของชานชาลา ยกเว้นบางบริเวณจะมีสถานีแบบอุโมงค์ซ้อนกัน โดยรางรถไฟฟ้าจะอยู่คนละชั้น ซึ่งแบ่งเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่ โครงสร้าง 2 ชั้น โครงสร้าง 3 ชั้น และโครงสร้าง 4 ชั้น
โครงสร้าง 2 ชั้น
โครงสร้าง 2 ชั้น ประกอบด้วย
ชั้นที่ 1 ชั้นโถงผู้โดยสาร เป็นสถานที่สำหรับซื้อและตรวจตั๋วโดยสารและแสดงแผนภูมิเส้นทางรถไฟฟ้า
ชั้นที่ 2 ชั้นชานชาลา เป็นชั้นที่รถไฟฟ้าจอดเทียบรับ-ส่งผู้โดยสาร ประตูจะเปิดและปิดเมื่อรถไฟฟ้าจอดเทียบสถานีเท่านั้น
โครงสร้าง 2 ชั้นนี้ มีจำนวน 4 สถานี ได้แก่ สถานีหัวลำโพง สถานีห้วยขวาง สถานีสุทธิสาร และ สถานีบางซื่อ
โครงสร้าง 3 ชั้น
โครงสร้าง 3 ชั้น ประกอบด้วย
ชั้นที่ 1 ชั้นรวมผู้โดยสาร มีลักษณะเป็นพื้นที่โล่ง ประกอบด้วยร้านค้าปลีกต่างๆ
ชั้นที่ 2 ชั้นโถงผู้โดยสาร เป็นสถานที่สำหรับซื้อและตรวจตั๋วโดยสารและแสดงแผนภูมิเส้นทางรถไฟฟ้า
ชั้นที่ 3 ชั้นชานชาลา เป็นชั้นที่รถไฟฟ้าจอดเทียบรับ-ส่งผู้โดยสาร ประตูจะเปิดและปิดเมื่อรถไฟฟ้าจอดเทียบสถานีเท่านั้น
โครงสร้างสถานี 3 ชั้น เป็นโครงสร้างที่สถานีส่วนใหญ๋สร้างในลักษณะนี้ ซึ่งมีจำนวน 11 สถานี ได้แก่ สถานีคลองเตย สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานีสุขุมวิท สถานีเพชรบุรี สถานีพระราม 9 สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สถานีรัชดาภิเษก สถานีลาดพร้าว สถานีพหลโยธิน สถานีสวนจตุจักร สถานีกำแพงเพชร
โครงสร้าง 4 ชั้น
โครงสร้าง 4 ชั้น มีรายละเอียดโครงสร้างเช่นเดียวกับ 2 ชั้น และ 3 ชั้น ประกอบ
ชั้นที่ 1 ชั้นโถงผู้โดยสาร
ชั้นที่ 2 ชั้นชานชาลา
ชั้นที่ 3 เป็นชั้นห้องเครื่องสำหรับระบบต่างๆ เช่น พัดลมดูดอากาศ ระบบไฟฟ้า เป็นต้น
ชั้นที่ 4 ชั้นชานชาลาล่าง
โครงสร้าง 4 ชั้นนี้ มีจำนวน 3 สถานี ได้แก่ สถานีสามย่าน สถานีสีลม และสถานีลุมพินี สาเหตุที่สถานีดังกล่าวต้องสร้างโครงสร้าง 4 ชั้น ก็เนื่องจากภายใต้พื้นดินมีสาธารณูปโภค เช่น อุโมงค์ประปา สายไฟฟ้า และสายโทรศัพท์ กีดขวางอยู่ เป็นจำนวนมาก ในการก่อสร้างสถานีจึงต้องหลีกเลี่ยงสาธารณูปโภคดังกล่าว
สิ่งอำนวยความสะดวก
สิ่งอำนวยความสะดวก
ภายในสถานีได้จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้แก่ผู้ใช้บริการ รวมทั้งผู้พิการ คนชราและหญิงมีครรภ์ ได้แก่ ลิฟต์ บันไดเลื่อน ระบบปรับอากาศทั้งภายในสถานีและตัวรถ ร้านค้าปลีก และห้องน้ำ สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการภายในลิฟต์จะมีอักษรเบรลล์ บริเวณชานพักบันได้ภายในสถานีจะมีปุ่มสัญลกษณะสำหรับผู้พิการทางสายตา นอกจากนั้นภายในห้องน้ำยังได้ติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้ผู้พิการสามารถใช้ได้อย่างสะดวกด้วย
ระบบป้องกันน้ำท่วม
ระบบป้องกันน้ำท่วม
เนื่องจากกรุงเทพมหานครมักประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่เสมอๆ ดังนั้นในการดำเนินโครงการดำเนินโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล จึงได้กำหนดแนวทางความปลอดภัยในการออกแบบเพื่อป้องกันน้ำท่วมภายในตัวสถานีและอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน โดยใช้ค่าระดับที่ 1 เมตร เหนือค่าระดับน้ำท่วมกรุงเทพฯ สูงสุดในรอบ 200 ปี เป็นค่ากำหนดในการนำไปใช้ออกแบบทางขึ้น-ลง สถานี และช่องเปิดต่างๆ ซึ่งน้ำสามารถไหลเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินได้ ดังนี้
- ตำแหน่งอาคารทางขึ้น-ลงสถานี ได้กำหนดให้ทางขึ้น-ลงสถานีมีระดับความสูงเท่ากับค่าระดับฝนสูงสุดในรอบ 200 ปี คือ 1.2-1.5 เมตร พร้อมทั้งติดตั้ง Stop Log ที่มีความสูงขึ้นไปอีก 1 เมตร เพื่อปิดกั้นหากน้ำมีระดับสูงขึ้นกว่า 1.5 เมตร
- ตำแหน่งปลายอุโมงค์ชั้นใต้ดินที่ศูนย์ซ่อมบำรุง ซึ่งเป็นบริเวณที่ปลายอุโมงค์บรรจบกับพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุงได้ก่อสร้างให้มีค่าความสูงเท่ากับทางขึ้น-ลงสถานี และในช่องปลายอุโมงค์ที่มีความลาดชันได้มีการออกแบบไว้ให้มีบ่อพักเพื่อดักและเก็บน้ำที่จะไหลเข้าสู่ตัวอุโมงค์อันเนื่องจากฝนตกทั่วไป พร้อมทั้งมีปั๊มน้ำเพื่อสูบน้ำออกจากบ่อพักดังกล่าวออกจากตัวอุโมงค์
- ตำแหน่งอาคารปล่องระบายอากาศหรือทางขึ้น-ลงฉุกเฉิน ค่าระดับฐานหรือพื้นอาคารได้ก่อสร้างให้มีความสูงเช่นเดียวกับความสูงของทางขึ้น-ลงสถานีข้างต้น
ระบบป้องกันอัคคีภัย
ระบบป้องกันอัคคีภัย
ได้กำหนดให้ออกแบบและก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าใต้ดินเป็นไปตามมาตรฐานสากล คือ มาตรฐาน NFPA 130 ซึ่งจะมีทั้งการป้องกันและระงับเหตุอัคคีภัย ดังนี้
-
การป้องกันการเกิดอัคคีภัย ลดโอกาสที่จะเกิดอัคคีภัย หรือหากมีอัคคีภัยเกิดขึ้นก็จะอยู่ในวงจำกัด โดยการกำหนดคุณลักษณะและคุณสมบัติของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง รวมทั้งกำหนดรูปแบบของอาคาร เช่น การเลือกใช้วัสดุที่ไม่ติดไฟง่าย
-
การระงับเหตุอัคคีภัย จุดประสงค์หลักเพื่อระงับการเกิดเพลิงไหม้รวมถึงการอำนวยความสะดวกผู้ประสบเหตุในการหนีไฟให้รวดเร็วและปลอดภัยที่สุด โดยออกแบบให้สามารถอพยพผู้โดยสารสู่จุดปลอดภัยได้ภายใน 6 นาที จัดให้มีระบบสัญญาณแจ้งเหตุและเตือนภัยอัตโนมัติ ระบบประกาศสาธารณะและบอกทิศทางในกรณีฉุกเฉิน ระดับเพลิงอัตโนมัติ ซึ่งมีน้ำเพียงพอที่จะดับไฟภายในถสานีได้ถึง 45 นาที นอกจากนั้นยังมีท่อดับเพลิงและหัวดับเพลิงซึ่งสามารถรับน้ำจากภายนอกได้โดยติดตั้งตลอดแนวอุโมงค์ในระยะทุก 50 เมตร เป็นต้น
ความปลอดภัยในการเดินรถ
ความปลอดภัยในการเดินรถ
ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการเดินรถอัตโนมัติ 3 ระบบ คือ
- ระบบควบคุมการเดินรถอัตโนมัติ ทำหน้าที่เสมือนผู้ขับรถ ควบคุมการออกรถ การเบรค การใช้ความเร็วที่เหมาะสม การจอดรถ และการเปิด-ปิดประตู
-
ระบบป้องกันอัตโนมัติ ใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมความเร็วรถให้อยู่ในพิกัดความเร็วที่ปลอดภัยสัมพันธ์กับระยะห่างระหว่างรถข้างหน้า กรณีที่รถ 2 ขบวน มีระยะห่างใกล้หรือไกลเกินกำหนด รถไฟฟ้าจะหยุดเองโดยอัตโนมัติ นอกจากนั้นคนขับรถไฟฟ้าก็จะทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยอีกชั้นหนึ่ง
- ระบบการปล่อยรถตามตารางที่ตั้งไว้ รถจะถูกปล่อยออกมาตามตารางการเดินรถที่ได้กำหนดไว้โดยอัตโนมัติเพื่อให้รถไฟฟ้าไปถึงจุดหมายปลายทางได้ตรงตามกำหนดเวลา
ความปลอดภัยของผู้โดยสาร
ความปลอดภัยของผู้โดยสาร
- ภายในสถานีได้ออกแบบให้เป็นพื้นที่โล่ง ไม่มีซอกมุมและถังขยะเพื่อเป็นที่ซุกซ่อนสิ่งแปลกปลอม และมีโทรทัศน์วงจรปิดติดตั้งทุกระยะเพื่อตรวจความเรียบร้อยภายในสถานีตลอดเวลา
- ทุกสถานีจะมีเจ้าที่รักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นหน้าที่ของ รฟม. และเจ้าหน้าที่ของบริษัทผู้รับสัมปทานรวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลซึ่งแต่ละสถานีตำรวจจะส่งมาประจำ นอกจากนั้นยังมีโทรทัศน์วงจรปิดติดตามจุดต่างๆ ภายในสถานีทุกชั้น
- บริเวณชานชาลาจะมีประตูชานชาลาซึ่งติดตั้งไว้ทุกสถานีเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารในระหว่างรอรถ ลักษณะเป็นกำแพงกระจกตลอดความยาวของชานชาลา ประตูชานชาลานี้ออกแบบมาให้เปิดออกได้ก็ต่อเมื่อมีรถไฟฟ้าจอดสนิทที่ชานชาลา เท่านั้น นอกจากนี้บานประตูทุกบานยังมีระบบตรวจจับสิ่งกีดขวางเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารติดอยู่ระหว่างประตู
ลักษณะโครงการ
อุโมงค์
เป็นอุโมงค์คู่รางเดี่ยว คือ เดินรถอุโมงค์ละหนึ่งทิศทาง มีเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน 5.7 เมตร หนา 30 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางภายนอก 6.3 เมตร
รางรถไฟฟ้า
เป็นรางมาตรฐาน UIC 54 กว้าง 1.435 เมตร จ่ายกระแสไฟฟ้าโดยรางที่ 3 ในอุโมงค์จะยึดติดคอนกรีตโดยตรงเพื่อประสิทธิภาพในการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วและความนุ่มนวลของการเดินรถ ส่วนรางบริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงใช้หมอนรองรางเพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้ายและบำรุงรักษา
ศูนย์ซ่อมบำรุง
ใช้พื้นที่ประมาณ 300 ไร่ เป็นโครงสร้างยกระดับประมาณ 3 เมตร ประกอบด้วย อาคารโรงซ่อมบำรุง อาคารศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการ สถานีจอดรถไฟฟ้า อาคารโรงซ่อมบำรุง รางวิ่งทดสอบ และอาคารบริหาร
การบริหารงานโครงการ
การบริหารงานโครงการ
ในการบริหารงานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ได้แบ่งเป็น 5 สัญญาก่อสร้าง และ 1 สัญญาสัมปทาน คือ
สัญญาที่ 1
งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์และสถานีส่วนใต้ คือตั้งแต่สถานีหัวลำโพงถึงสถานีพระราม 9 รวม 9 สถานี เป็นงานอุโมงค์เชื่อมต่อระหว่างสถานี อุโมงค์ส่วนแยกเข้าสู่ศูนย์ซ่อมบำรุง และปล่องระบายอากาศระหว่างสถานี 3 แห่ง
สัญญาที่ 2
งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์และสถานีส่วนเหนือ คือตั้งแต่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยถึงสถานีบางซื่อ รวม 9 สถานี เป็นงานในลักษณะเดียวกันกับส่วนใต้ ต่างกันตรงที่มีปล่องระบายอากาศระหว่างสถานี 5 แห่ง
สัญญาที่ 3
งานออกแบบก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง เป็นการก่อสร้างลานคอนกรีตเพื่อใช้เป็นลานจอดรถไฟฟ้ายกระดับ สูงจากพื้นดินประมาณ 2 เมตร
สัญญาที่ 4
งานออกแบบ จัดหา และติดตั้งระบบราง เป็นสัญญาติดตั้งและวางรางรถไฟฟ้าทั้งรางวิ่งและรางจ่ายกระแสไฟฟ้า ทั้งส่วนเหนือ ส่วนใต้ และศูนย์ซ่อมบำรุง
สัญญาที่ 5
งานออกแบบ จัดหา และติดตั้งลิฟต์และบันไดเลื่อน
สัญญาที่ 6
งานสัมปทานออกแบบ จัดหาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและเดินรถ เป็นสัญญาสัมปทานให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนและบริการเดินรถ ดำเนินการโดย บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BMCL) โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 เป็นช่วงเวลาตั้งแต่ลงนามในสัญญาสัมปทานจนกระทั่งรถไฟฟ้าใต้ดินพร้อมเปิดให้บริการ โดยผู้สัมปทานมีหน้าที่ ออกแบบ ผลิต จัดหา ติดตั้ง ทดสอบ และทดลองใช้งานอุปกรณ์งานระบบร่วมกับโครงสร้างพื้นฐานทางโยธาของ รฟม.
ระยะที่ 2 เป็นช่วงเวลาตั้งแต่การให้บริการและบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้าใต้ดินเป็นเวลา 25 ปี ตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการ จนกระทั่งสิ้นสุด และจะต้องนำโครงสร้างพื้นฐานโยธาและงานระบบทั้งหมดที่ BMCL จัดหาคืนให้กับ รฟม. โดย BMCL ได้ว่าจ้างบริษํท Siemens จำกัด เป็นผู้รัเหมา ในลักษณะการจ้างแบบเบ็ดเสร็จ โดยเป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ผลิต ติดตั้ง ไปจนกระทั่งทำให้ระบบมีความพร้อมที่จะใช้งาน รวมถึงอบรมพนักงานให้มีความพร้อมในการให้บริการได้ด้วย และเป็นผู้บำรุงรักษาอุปกรณ์งานระบบอีกเป็นระยะเวลา 10 ปี